วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สารคดีท่องเที่ยว เรื่อง เกาะสวยใก้ลกรุงเทพฯ

สารคดีท่องเที่ยว เรื่อง เกาะสวยใกล้กรุงเทพฯ

เช้าวันศุกร์ เป็นเวลาที่ท้องฟ้าสดใสในยามเช้า แต่สำหรับดิฉันมันเป็นเช้าที่แสนสงบและสุขสบาย มันเป็นวันแห่งการพักผ่อนระหว่างสัปดาห์ของดิฉัน แต่ด้วยท้องฟ้าที่แจ่มใส และอากาศที่แสนดี จะมีหรือที่คนที่ชอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ทะเล จะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมพื้นที่แสนอึดอัด ดิฉันเตรียมกระเป๋ากับกล้อง เตรียมตัวเดินทางไปเกาะสีชังที่ที่คนต่างบอกเล่ากันว่าสงบและสวยงามมาก วันนี้เป็นวันที่ดิฉันไม่เครียดเรื่องงานเป็นวันที่ผ่อนคลายมาก
ดิฉันเดินทางด้วยรถแท็กซี่มาลงที่สถานีขนส่งเอกมัยมันเป็นวันที่รถติดมาก อีกตามเคย แต่ดิฉันก็ไม่หงุดหงิดเลยเพราะว่าดิฉันตื่นเต้นกับการไปเที่ยวทะเลเกาะสีชังในครั้งนี้ จนลืมความเครียดไปในเวลานั้น ดิฉันถึงที่สถานีเอกมัยเป็นที่เรียบร้อยขนกระเป๋าลงจากรถแท็กซี่ เดินตรงไปที่ซื้อตั๋วรถทัวร์ กรุงเทพฯ- พัทยา ดิฉันรอเวลารถทัวร์ออกเดินทาง เพื่อมุ่งหน้าสู่อำเภอศรีราชา สู่ท่าเรือจรินทร์ ขึ้นเรือเมล์เพื่อข้ามไปยังเกาะสีชังด้วยค่าโดยสาร 40 บาท ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาทีก็ถึงปลายทางกลางทะเล เพียงก้าวแรกบนท่าเทียบเรือดิฉันก็เริ่มรับรู้ได้ถึงความเงียบสงบของที่แห่งนี้ เดินจากท่าเรือเข้ามาเล็กน้อยเราก็จะมองเห็นพาหนะนำเที่ยวหลายรูปแบบทั้งสามล้อเครื่องที่มีหลายราคาตามจำนวนสถานที่ มอเตอร์ไซค์ให้เช่าที่มีทั้งแบบเป็นชั่วโมงๆละ 100 บาทหรือแบบเหมาทั้งวัน 250 บาท ผมมีเวลาเที่ยวบนเกาะนี้เกือบค่อนวันก็เลยเลือกแบบเหมาทั้งวัน พี่เจ้าของรถก็ช่วยแนะเส้นทางให้โดยบอกให้เราขับตามถนนหลักซึ่งสายเดียวรอบเกาะทั้งมีป้ายบอกทางสถานที่ต่างๆ โดยก่อนอื่นพี่เขาบอกให้เราเลี้ยวขวาไปก่อนเพื่อไปไหว้ “เจ้าพ่อเขาใหญ่”สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเกาะ ขับไปไม่นานก็พบเจอศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เดินตามบันไดขึ้นเขาคยาศิระไม่ไกลก็จะถึงศาลที่ประทับเจ้าพ่อเขาใหญ่ ซึ่งศาลแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าในอดีตเกาะสีชังแห่งนี้ยังไม่มีผู้คนมาอาศัยอยู่ จะมีเพียงเรือสำเภาที่มาจอดถ่ายสินค้า ตกเวลากลางคืนจะสังเกตเห็นแสงสว่างสะท้อนออกมาจากบริเวณศาลในปัจจุบัน จึงได้มีการสำรวจพบถ้ำและปรากฏว่าพบรูปหินของเจ้าพ่อเขาใหญ่ในลักษณะประทับ และกลายเป็นที่เคารพสักการะของคนโดยทั่วไป หลังจากไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่เสร็จดิฉันก็เดินขึ้นบันไดตามป้ายบอกทางเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา แต่แล้วก็เกือบถอดใจเพราะบันไดนั้นแสนจะชันและยาวไกล แต่ในที่สุดดิฉันก็ขึ้นมาถึงยอดเขา สิ่งแรกที่พบก็คือเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เดินต่อไปอีกนิดหน่อยก็จะพบรอยพระพุทธบาทซึ่งจำลองมาจากรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อปี พ.ศ.๕๐๐ มีความยาวศอกเศษ ทำจากหินขวาน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาจากวัดพุทคยา ประเทศอินเดีย บนยอดเขานี้ถือเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดบนเกาะสีชังเพราะสามารถมองเห็นเกาะได้รอบทิศ วิวที่จุดนี้เป็นบรรยากาศที่สวยงามและสงบมากดิฉันได้ยินเสียงลมมากระทบหูมันเป็นเสียงลมและเสียงคลื่นทะเลที่น่าหลงใหลมาก
เมื่อลงจากยอดเขา ผมก็ขับรถตามถนนหลักต่อไปไม่ไกลนักก็ถึง “ช่องเขาขาด”หรือ“ช่องอิสริยาภรณ์” เป็นอ่าวที่มีความสวยงาม มองเห็นน้ำทะเลสีเขียวใสสะท้อนกับแสงแดดในยามใกล้เที่ยง เกิดเป็นประกายระยิบระยับ เดินขึ้นไปบนจุดชมวิวบริเวณใกล้กันจะพบพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ชมวิว และเมื่อเดินทางต่อไปก็จะเข้าสู่เขตชุมชนชาวเกาะสีชัง หลังบ้านเรือนเหล่านั้นจะสังเกตเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนเชิงเขา ดิฉันเลี้ยวตามป้ายบอกทางซึ่งบอกว่าเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำจักรพงษ์ ซึ่งสามารถขับรถขึ้นไปยังสำนักสงฆ์บนเชิงเขาได้ สำนักสงฆ์แห่งนี้นอกจากจะมี “พระเหลือง” พระพุทธรูปปรางค์สมาธิองค์ใหญ่เป็นจุดเด่นแล้วยังมี “ถ้ำจักรพงษ์”ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อีกด้วย เมื่อกราบพระและทำบุญเสร็จดิฉันก็ออกเดินทางสู่สถานที่ต่อไป ดิฉันขับมาถึงทางเข้าพระราชจุฑาธุชราชฐาน พระราชฐานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ดิฉันตัดสินใจเลี้ยวขวาขึ้นเนินเขาเพื่อไปยังหาดถ้ำพังอ่าวอัษฎางค์ เมื่อข้ามเนินเขามาได้ก็จะมองเห็นหาดถ้ำพังหาดทรายสีขาวเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ ดิฉันใช้เวลาบนหาดแห่งนี้อยู่นานเพราะเป็นหาดที่มีความสวยงามจึงขอเก็บความทรงจำด้วยการถ่ายภาพเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึก แต่น่าเสียดายเพราะบนเกาะสีชังนี้มีเพียงหาดถ้ำพัง หาดเดียวที่สามารถเล่นน้ำได้นอกจากนั้นทะเลเป็นหน้าผาและโขดหินใหญ่ไม่สามารถเล่นน้ำได้ ในบริเวณไกลกันก็ยังมีแหลมอัษฎางค์ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาตกปลากันและสถานที่ท่องเที่ยวสุดท้ายบนเกาะสีชังซึ่งถือเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด นั่นก็คือ “พระราชจุฑาธุชราช” ซึ่งมีความเป็นมาคือ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จรัชกาลที่ ๔ ประพาสเกาะสีชัง และได้ทรงแจกทานแก่คนชราที่มีอายุเกินร้อยปีถึง ๓ คน สีชังจึงเป็นสถานที่พัก เป็นสถานที่พักฟื้นเป็นที่นิยมของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แพทย์หลวงถวายคำแนะนำให้พระบรมวงศ์เสด็จไปพักรักษาพระองค์ ณ เกาะสีชัง โดยเฉพาะพระเจ้าลูกยาเธอ “เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ” ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงพระเยาว์มีพระอาการมาก ต้องไปพักรักษาพระองค์อยู่ที่เกาะสีชังเป็นเวลานาน รัชกาลที่ ๕ ทรงมีความห่วงใยก็เสด็จไปทรงอภิบาลพระราชโอรสเป็นการประจำเช่นกัน และในปีพ.ศ.๒๔๓๑ทรงโปรดฯให้สร้างตึกขึ้นสามหลัง สำหรับเป็นที่พักฟื้นผู้ป่วย ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และตึกอภิรมย์ ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระราชฐานขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเพื่อแปรพระราชฐานในฤดูร้อน พระราชทานนามว่า “จุฑาธุชราชฐาน” ตามพระนามของพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติที่เกาะสีชัง ภายในบริเวณมีพระที่นั่ง 4 องค์ ตำหนัก 14 หลัง และศาลา 1 แห่ง มีหาดที่สวยงามเรียกหาดท่าวัง จุดเด่นของพระราชฐานแห่งนี้คงหนีไม่พ้น “สะพานอัษฎางค์” สะพานขาวที่ทอดยาวออกไปยังทะเล นอกจากนี้เวลาช่วงเย็นพื้นที่บางส่วนของพระราชจุฑาธุชราชยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เล่นกีฬาของชุมชนอีกด้วยเสียงแตรจากเรือเมล์ดังมาถึงพระราชจุฑาธุชราชที่ดฉันยืนอยู่ ถึงเวลาที่ดิฉัน ต้องกลับไปสู่โลกที่วุ่นวายอย่างเคยแล้ว ต่างกับที่นี่โดยสิ้นเชิงที่เงียบสงบและเรียบง่าย ดิฉันเริ่มจะรักที่นี่เสียแล้ว “สีชัง” คงชังแต่เพียงชื่อ สำหรับนักท่องเที่ยวหลายๆคนรวมทั้งดิฉันคงชังที่นี่ไม่ลงเป็นแน่ ดิฉันจะไม่ลืมสถานที่ที่สวยงามและเงียบสงบแห่งนี้เป็นอันขาดเพราะถือว่าเป็นเกาะสวรรค์ใกล้กรุงเทพฯอีกที่หนึ่งเลยทีเดียว

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข่าวแจก

ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
เรื่อง การขายทอดตลาดรถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศ


ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีความประสงค์จะขายทอดตลาดรถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศ หมายเลขทะเบียน ๕ ฌ - ๔๔๘๔ จำนวน ๑ คัน รายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย ประกาศนี้ โดยมีวิธีดำเนินการและเงื่อนไข ดังนี้
๑. กำหนดวิธีการขายทอดตลาด ขายโดยวิธีประมูลราคาด้วยการยื่นซองใบเสนอราคา ในวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ ตั้งแต่เวลา ๙.๓๐ น. ถึง ๑๐.๓๐ น. และเปิดซองใบเสนอราคาพร้อมทั้งพิจารณาผลการประมูลในเวลา ๑๑.๐๐ น. ณ กลุ่มงานพัสดุ อาคาร ๑๓ ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องวางเงินสดค้ำประกันในการประมูล รายละ ๒,๕๐๐.๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยบาทถ้วน)
๒. การชำระเงินและรับมอบรถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศ
๒.๑ ผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่ารถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศที่ประมูลได้ทันที และขอรับมอบรถดังกล่าวภายใน ๗ วันทำการ นับแต่วันขายทอดตลาด หากไม่มารับรถภายในกำหนดระยะเวลา มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลรักษารถ
๒.๒ ผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น อาทิ ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่าอากรแสตมป์ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ถ้ามี)
๒.๓ หากผู้ชนะการประมูลไม่ชำระค่ารถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศตามที่ประมูลได้ มหาวิทยาลัยจะถือว่าท่านผิดเงื่อนไขในการประมูล และจะริบเงินสดค้ำประกันในการประมูลทันที และ จะดำเนินการขายอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากได้เงินไม่คุ้มราคาที่ขายทอดตลาดในครั้งก่อน ท่านจะต้องชำระเงินในส่วนที่ขาดนั้น
๓. มหาวิทยาลัยสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ขาย หรือยกเลิกการขายทอดตลาดนั้นเสียก็ได้ ถ้าเห็นว่าราคาสูงสุดที่ผู้ยื่นเสนอราคาประมูลนั้น ยังไม่เป็นผลดีต่อทางราชการ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ยื่นเสนอราคาประมูลจะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น
๔. การวินิจฉัยของมหาวิทยาลัยให้ถือเป็นเด็ดขาดจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ผู้เข้าร่วมประมูลต้องปฏิบัติตามประกาศนี้
๒ / ผู้สนใจ...
ผู้สนใจติดต่อขอรับเอกสาร ได้ตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ ระหว่างเวลา ๙.๐๐ น.ถึง ๑๕.๓๐ น. ในวันราชการ หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซด์ www.dusit.ac.th หรือสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข ๐ ๒๒๔๔ ๕๑๑๐ ถึง ๕๑๑๔ หรือ ๐ ๒ ๖๖๘ ๗๔๖๔ ในวันและเวลาราชการ
ประกาศ ณ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๑
(รองศาสตราจารย์ศิโรจน์ ผลพันธิน)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต