วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

คำกล่าวปิด
การเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๒ (๑/๒๕๕๑)
เรื่อง “การบริหารจัดการงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research)
ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ”


ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณทุกๆ มหาวิทยาลัยเครือข่าย ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาฯ ในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า R2R หรือ Routine to Research นั้น เป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยคำๆนี้เกิดขึ้นจากพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเองที่ถูกมองจากสังคมว่า เป็นบ่อเกิดของวิชาการและงานวิจัย ย้อนหลังไปเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว ในขณะนั้นผมยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่มโครงการ R2R ขึ้น แม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจัยมืออาชีพ ว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งานวิจัย เพราะงานวิจัยจริงๆน่าจะวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ และเสียงอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ปฏิบัติงานประจำว่า ผู้บริหารให้ทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินความสามารถของ พวกเขา โดยกลัวคำว่างานวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็ยังคงยืนยันว่าจะต้องทำให้เกิด R2R ในโรงพยาบาลศิริราชให้ได้ ในที่นี้ผมจึงขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดระยะเวลาในการทำงาน หรือการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ตาม เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการวิจัยได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังเท่านั้น แต่ R2R เป็นได้ตั้งแต่งานวิจัยขนาดเล็กต่อยอดไปสู่งานวิจัยขนาดใหญ่ได้ หากมีการตั้งโจทย์ที่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกสถาบัน ในการทำกิจกรรม R2R
ในปัจจุบันในวงการมหาวิทยาลัยมีคำกล่าวที่ว่า Good University teaches but Great University transforms people นั่นหมายความว่าขณะนี้การสอนไม่เน้นให้ตอบคำถามเพียง อย่างเดียว แต่เน้นให้“ถามเป็น”มากขึ้น ซึ่งคำถามจะกระตุ้นให้ค้นหาคำตอบ ค้นพบวิธีได้มาซึ่งคำตอบ เหล่านี้เองทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งภูมิปัญญาของประเทศ และสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจะต้องมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์จากงานประจำ
จากที่ผมเองมีส่วนร่วมในกิจกรรม R2Rของโรงพยาบาลศิริราชนั้น ในระยะเริ่มแรกเริ่มต้นขึ้นได้ที่หน่วย HA โดยพบว่าหลังจากเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มความถนัดขึ้นมาเกือบ 80 กลุ่ม ทำอย่างไรจึงจะต่อยอดไปสู่งานวิจัยได้ จึงนำกลุ่มทั้งหลายมาร่วมกันค้นคิดคำถามงานวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช อ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า R2R ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนๆ เดียว จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหาร โดยในส่วนของผู้บริหารเองจะต้องลด command and control โดยใช้ให้น้อยลง ไม่เช่นนั้นจะเกิดนักวิจัยแบบ R2R ได้ยาก และสิ่งที่อยากจะฝากทุกๆ ท่านในวันนี้คือ ทุกท่านต้องกลับไปจุดไฟกระตุ้นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่อยู่เหนือท่านขึ้นไป หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูง ให้เห็นความสำคัญ โดยตัวผมเองโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ R2R ของโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเห็นความสำคัญและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากงานในส่วนนี้ ดังนั้นเมื่อได้รับตำแหน่งอธิการบดี จึงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้เกิด R2R ในทุกส่วนของมหาวิทยาลัย เพราะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาหน้างานทั้งสิ้น และขอย้ำกับทุกๆ ท่านในที่นี้อีกครั้งว่า R2Rมิใช่กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนเป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรจะทำให้เกิด R2R เพราะ Research in Education มีความสำคัญมาก
ขอให้การมารวมตัวกันในวันนี้กลายเป็นการก่อเกิด CoPs ของ R2R ซึ่งเราจะร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับการตั้งต้น R2R นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ต้องอาศัยคณะทำงานที่เข้มแข็งเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจและการสนับสนุน ด้านทรัพยากร ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กัน คือ Leadership คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพและนวัตกรรม ถ้าทุกๆ มหาวิทยาลัยทำให้เกิดขึ้นได้แล้วกระจายออกไปสู่สังคม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณและฝากความหวังไว้กับทุกๆ ท่านว่า เราจะยังคงร่วมมือกับเครือข่ายนี้ต่อไป จะติดตามผลการดำเนินการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดเป็น Learning Organization ที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าพวกเราทำได้และขอขอบคุณผู้จัดงานในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในหน่วยงานของท่านให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบคุณครับ

-------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น