วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

คำปราศรัยและสุนทรพจน์
ของนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมฯ
ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2542
สมาคมศิษย์เก่ากองทุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสถาบันฝึกอบรมการปฎิรูปที่ดิน
วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 2542 เวลา 09.00 น.
ณ โรงแรมรีเจนท์ชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ฯพณฯ หวาง เสี่ยน หยาง และมาดามหวาง คุณโจเซฟ เจีย-ชิ หวง จาก ICDF ดร.วู มิง มิน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ชุง ชิง คุณเฉิน และคุณชาญเดช หวังสัมพันธ์ จากสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ประจำประเทศไทย ท่านคณะกรรมการและสมาชิกสมาคมที่รักทุกท่าน
ผมจะขอใช้เวลาสั้นๆ ในการให้เกียรติกับแขกของสมาคมฯ ซึ่งเดินทางมาจากไต้หวัน โดยการกล่าวเป็นภาษาอังกฤษสักเล็กน้อย ก่อนที่จะกล่าวกับท่านสมาชิกสมาคมฯ ในลำดับต่อไป
(กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ถอดความเป็นภาษาไทยดังต่อไปนี้)
สมาคมศิษย์เก่ากองทุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสถาบันฝึกอบรมการปฎิรูปที่ดิน หรือที่รู้จักกันดีในนามสมาคมศิษย์เก่าไต้หวัน ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว โดยได้เริ่มดำเนินการที่จะก่อตั้งสมาคมในปี ค.ศ.1995 ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทยประจำประเทศไทย ซึ่งมีคุณชาญเดช หวังสัมพันธ์ เป็นผู้ประสานงาน ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมได้ถูกต้องตามกฏหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฯ เป็นต้นมาได้มีการประชุมใหญ่ประจำทุกปี ซึ่งเป็นความตั้งใจของสมาคมฯ ที่ปรารถนาจะให้สมาชิกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคืดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการได้ฟังปาฐกถาพิเศษจากนักวิชาการของไทย และไต้หวัน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้วย เท่าที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี
ผมต้องขอขอบคุณ ICDF ในกรุงไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ประจำประเทศไทย ที่ได้ให้การสนับสนุนทุกครั้งที่มีการประชุมสามัยประจำปีของสมาคมฯ รวมทั้งการสนับสนุนวืทยากรจากไต้หวัน ในการให้ความรู้เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับสมาชิก
การประชุมประจำปีของสมาคมในปีนี้ผมขอขอบคุณ ดร.วู มิง มิน ด้วยความจริงใจ ที่ได้สละเวลามาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การตลาดสินค้าเกษตรในไต้หวัน" ในวันนี้ และผมมีความยินดีที่จะกราบเรียน ฯพณฯ หวาง ทราบว่า ขณะนี้สมาคมฯ มีสมาชิก ประมาณ 200 คน ในบรรดาสมาชิกเหล่านี้ หลายท่านได้ไปเยือนสถาบันฝึกอบรมการปฏิรูปที่ดิน (LRTI) เป็นเวลากว่า 15 ปีมาแล้ว และคณะกรรมการของสมาคมฯ ทั้งหมดเป็นข้าราชการ บางท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น เช่น คุณปราโมทย์ รักษาราษฎร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรคนใหม่ หลายท่านเป็นผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาค เป็นเกษตรจังหวัด เป็นเกษตรอำเภอ
จากการสนับสนุนของท่าน ทำให้บุคลากรเหล่านี้มีประสบการณ์ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรในไต้หวันที่สามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้กับงานในหน้าที่ในประเทศไทยอย่างได้ผล สร้างประโยชน์ให้เกิดแก่เกษตรกร และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้บริหารระดับสูง
(จบคำกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ)
(คำปราศรัย ภาษาไทย)
ผมได้ใช้เวลาสั้นๆ ในการให้เกียรติกับทางหัวหน้าคณะผู้แทนของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปคนใหม่ ที่เพิ่มมารับตำแหน่ง คือ ฯพณฯ นายพล หวาง เสียน หยาง และมาดาม เพื่อให้ท่านได้ทราบถึงความรู้สึกของพวกเรา ที่มีต่อการสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่ากองทุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถาบันฝึอบรมการปฎิรูปที่ดินขึ้นมา
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นับตั้งแต่การจัดตั้งสมาคมฯ จนถึงชณะนี้ เป็นเวลาประมาณ 4 ปีแล้ว ทุกๆ ปี เรามีการประชุมประจำปี เพื่อให้สมาชิกของสมาคมมีโอกาสพบปะกัน และสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ระลึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่พวกเราได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในไต้หวัน และส่วนหนึ่งคือการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างฝ่ายไทย คือสมาคมฯกับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย ซึ่งมีคุณชาญเดช หวังสัมพันธ์ เป็นผู้ประสานงาน
การประชุมทุกครั้ง เราได้ประสานงานเชิญผู้แทนของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปมาร่วมประชุมด้วย รวมทั้งได้เชิญผู้บรรยายพิเศษมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา และความเจริญก้าวหน้าของไต้หวันให้เราได้ทราบ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ความจริงการประชุมครั้งที่ 4 นี้ จะต้องจัดในปี 2541 แต่เนื่องจากหาเวลาที่เหมาะสมไม่ได้ ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งของผมเองมีมากแต่ด้วยความห่วงใย จึงได้พูดคุยกับคณะกรรมการบางท่าน เช่น คุณฉันทนา ชะระวณิช คุณเสาวนิตย์ พงษ์ประไพ คุณสุดา วัชระประภาพงศ์ คุณศิวศักดิ์ วานิชรักษ์ คุณพะเยาว์ รัตนวิบูลย์ รวมทั้งพี่ชีพ ชูวิจิตร และอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม พยายามที่จะจัดการประชุมประจำปีให้ได้จนกระทั่งหาวัน เวลา ที่เหมาะสมได้ คือ การประชุมครั้งนี้
ก่อนที่จะมีการประชุมครั้งนี้ คุณชาญเดช และคุณเฉิน ได้เดินทางไปพบผมที่กรมวิชาการเกษตร ได้คุยหารือกันถึงเรื่องการทำงาน รวมทั้งแนวทางการจัดประชุมครั้งนี้ และได้แนะนำสมาชิกใหม่หลายท่าน
สมาคมฯ มีสมาชิกใหม่ ซึ่งได้เดินทางไปอบรมที่ไต้หวัน ทั้งในส่วนของ LRTI และ ICDF เมื่อกลับมาก็ได้สมัตรเป็นสมาชิกของสมาคมฯ
สิ่งที่สำคัญที่จะเรียนให้ทราบคือ การจัดประชุมทุกๆ ปี ทางสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่ายจาสกสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะได้รายงานให้ทราบถึงสถานภาพทางการเงินของสมาคมฯ ซึ่งยังมีเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง
โอกาสที่ได้มาในวันนี้ ผมดีใจมาก และอยากกราบเรียนให้ ฯพณฯ หวาง ผ่านทางคุณชาญเดช ทราบว่า การประชุมครั้งนี้ สมาชิกมาร่วมประชุมกันมากกว่าทุกครั้ง ที่สำคัญคือ มีสมาชิกอาวุโส ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาค และเกษตรจังหวัด หลายท่าน รวมทั้งน้องๆ ที่เป็นสมาขิกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงขณะนี้ เป็นสิ่งที่ยินยันถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และผมหวังว่าในปีต่อๆ ไป ทางสมาคมฯ คงจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกมาร่วมประชุมกันอย่างมากมายเช่นนี้อีก
ผมได้เรียนกับคณะกรรมการว่า เราน่าจะมีกิจกรรมของสมาคมฯ ในรอบปีมากกว่านี้แทนที่จะมีเฉพาะการประชุมประจำปีเพียงอย่างเดียว ระหว่างปีน่าจะมีอะไรมากขึ้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่ผมขอฝากกับท่านคณะกรรมการไว้
ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง สำหรับ LRTI และ ICDF ซึ่งเท่าที่ผ่านมา นอกจากจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่สมาคมฯ แล้วยังได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา การฝึกอบรม และดูงานแก่นักวิชาการของไทย ให้ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมในไต้หวันด้วย นับว่าทางสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ได้ให้เกียรติแก่ทางสมาคมฯ มาก ในการที่จะให้สมาคมฯ เป็นแกนกลางในการคัดเลือกผู้รับทุนไปฝึกอบรมและดูงาน จะต้องจัดทำให้ลักษณะใด ไม่อยากให้ผูกพันกับกรมฯ เพราะการส่งเอกสารการขอรับทุนมาที่กรมวิชาการเกษตร ผมจะต้องคัดเลือกส่งบุคลากรของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งบางครั้งไม่เป็นธรรมสำหรับหน่วยงานอื่น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้มาโดยตลอดนั้น แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย ที่ได้ให้กับนักวิชาการด้านการพัฒนาการเษตรของไทย ซึ่งผมขอยืนยันว่า ความรู้ ประสบการณ์จากการที่ได้ศึกษาดูงาน และฝึกอบรมในไต้หวันนั้นมีมากมาย
ผมเองมีโอกาสเติบโตขึ้นในหน้าที่การงานหมุนเวียนสับเปลี่ยนไป ในช่วง 1 ปี ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผมไม่ได้เดินทางไปยุโรป และอเมริกาเลย ทั้งๆ ที่หน้าที่ของผมต้องเดินทางเกือบทุกเดือน ในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศมากมาย ผมสามารถเดินทางได้ทุกเดือนๆ ละประมาณ 2 ครั้ง ถ้าจะไปจริงๆ และไม่ใช้เงินของรัฐบาล เป็นเงินขององค์กรนั้นๆ ที่เชิญไปแต่เนื่องจากสิ่งที่จะไปร่วมประชุม หรือร่วมกิจกรรมเหล่านั้น ผมคิดว่าเสียเวลา เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากห่างไกลจากความเป็นจริงที่จะนำมาใช้ได้ในประเทศไทย ผมเลยไม่เดินทางเลย
1 ปีที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปลาว 1 วัน เดินทางไปญี่ปุ่น 1 ครั้ง ไปดูเรื่องเกี่ยวกับ Rice qenome สุดท้ายไปมาเลเซีย ไปเจรจาความร่วมมือเรื่องยางพารา นอกเหนือจากนี้ไม่ได้ไปไหนเลย ยุโรป อเมริกา ต้องถือว่างง่ายมากถ้าจะไป แต่ผมปฎิเสธหมด ถ้าถามผมตอนนี้ว่าอยากไปไหน ผมอยากไปไต้หวันอีก ยังเรียน ฯพณฯ หวาง ว่า ผมไม่ได้ไปไต้หวันมา 2-3 ปี แล้ว เพราะหาเวลาว่างที่เหมาะสมไม่ได้
ความรู้สึกของผม ผมเป็นคนผิวเหลือง ผมมีประสบการณ์มากขึ้น ทำงานมากขึ้น รู้เล่ห์เหลี่ยมของผู้คนในสังคมมากขึ้น ผมภูมิใจในไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ผมอยากให้พวกเรารู้สึกสิ่งเหล่านี้ และนำประสบการณ์ที่ได้จากประเทศเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ความรู้สึกเช่นนี้ค่อนข้างรุนแรง จนผมขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการความร่วมมือทางการเกษตรของออสเตรเลีย (ACIAR) ซึ่งผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการโดยชื่อ มิใช่โดยตำแหน่ง ผมเห็นว่าการช่วยเหลือของออสเตรเลียเป็นการเอาเปรียบ ผมจึงยกเลิกความร่วมมือและลาออกจากการเป็นกรรมการ เป็นการประท้วงการที่เขาอาศัยกลไกความร่วมมือแสวงหาประโยชน์จากไทย โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตไม้ผลเมืองร้อน
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้ท่านได้ทราบในฐานะเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้มีโอกาสมาร่วมประชุม และทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับไต้หวันต่อไป
เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ ผมขอเปิดการประชุมสามัญประจำปี 2542 ของสมาคมศิษย์เก่ากองทุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถาบันฝึกอบรมการปฏิรูปที่ดิน ณ บัดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น