วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

บุคคลสำคัญ

ชื่อจริง - นามสกุล ศศินา วิมุตตานนท์
ชื่อเล่น อ้อ
วันเกิด 6 กรกฎาคม
E-mail สำหรับคนนอกติดต่อ sasina@ch7.com
การศึกษา (ตั้งแต่อนุบาล ถ้าจำได้) ประถมศึกษา โรงเรียนสวนบัว , มัธยมศึกษา โรงเรียนสายปัญญา , ปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ เอกภาควิชาโฆษณา โทภาควิชาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
คติที่ใช้ดำเนินชีวิต ยิ้ม อดทน ปล่อยวาง
งานอดิเรก (กิจกรรม) อ่านหนังสือ นิตยสาร จัดอัลบั้มภาพ จัดตกแต่งบ้าน ออกกำลังกาย
ประวัติการทำงาน พิธีกรรายการ "รักฟัน" "คนเด็ด" "ครบเครื่องเรื่องผู้หญิง" "การประกวดนางสาวไทย" "มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส" ฯลฯ, ผู้ดำเนินรายการวิทยุ "มุมมองเศรษฐกิจ" "ผู้หญิงทำงาน" , ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ , ผู้ประกาศข่าว ช่อง 7 สี

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

คำปราศรัยและสุนทรพจน์
ของนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมฯ
ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2542
สมาคมศิษย์เก่ากองทุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสถาบันฝึกอบรมการปฎิรูปที่ดิน
วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 2542 เวลา 09.00 น.
ณ โรงแรมรีเจนท์ชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ฯพณฯ หวาง เสี่ยน หยาง และมาดามหวาง คุณโจเซฟ เจีย-ชิ หวง จาก ICDF ดร.วู มิง มิน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ชุง ชิง คุณเฉิน และคุณชาญเดช หวังสัมพันธ์ จากสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ประจำประเทศไทย ท่านคณะกรรมการและสมาชิกสมาคมที่รักทุกท่าน
ผมจะขอใช้เวลาสั้นๆ ในการให้เกียรติกับแขกของสมาคมฯ ซึ่งเดินทางมาจากไต้หวัน โดยการกล่าวเป็นภาษาอังกฤษสักเล็กน้อย ก่อนที่จะกล่าวกับท่านสมาชิกสมาคมฯ ในลำดับต่อไป
(กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ถอดความเป็นภาษาไทยดังต่อไปนี้)
สมาคมศิษย์เก่ากองทุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสถาบันฝึกอบรมการปฎิรูปที่ดิน หรือที่รู้จักกันดีในนามสมาคมศิษย์เก่าไต้หวัน ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว โดยได้เริ่มดำเนินการที่จะก่อตั้งสมาคมในปี ค.ศ.1995 ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทยประจำประเทศไทย ซึ่งมีคุณชาญเดช หวังสัมพันธ์ เป็นผู้ประสานงาน ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมได้ถูกต้องตามกฏหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฯ เป็นต้นมาได้มีการประชุมใหญ่ประจำทุกปี ซึ่งเป็นความตั้งใจของสมาคมฯ ที่ปรารถนาจะให้สมาชิกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคืดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการได้ฟังปาฐกถาพิเศษจากนักวิชาการของไทย และไต้หวัน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้วย เท่าที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี
ผมต้องขอขอบคุณ ICDF ในกรุงไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ประจำประเทศไทย ที่ได้ให้การสนับสนุนทุกครั้งที่มีการประชุมสามัยประจำปีของสมาคมฯ รวมทั้งการสนับสนุนวืทยากรจากไต้หวัน ในการให้ความรู้เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับสมาชิก
การประชุมประจำปีของสมาคมในปีนี้ผมขอขอบคุณ ดร.วู มิง มิน ด้วยความจริงใจ ที่ได้สละเวลามาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การตลาดสินค้าเกษตรในไต้หวัน" ในวันนี้ และผมมีความยินดีที่จะกราบเรียน ฯพณฯ หวาง ทราบว่า ขณะนี้สมาคมฯ มีสมาชิก ประมาณ 200 คน ในบรรดาสมาชิกเหล่านี้ หลายท่านได้ไปเยือนสถาบันฝึกอบรมการปฏิรูปที่ดิน (LRTI) เป็นเวลากว่า 15 ปีมาแล้ว และคณะกรรมการของสมาคมฯ ทั้งหมดเป็นข้าราชการ บางท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น เช่น คุณปราโมทย์ รักษาราษฎร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรคนใหม่ หลายท่านเป็นผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาค เป็นเกษตรจังหวัด เป็นเกษตรอำเภอ
จากการสนับสนุนของท่าน ทำให้บุคลากรเหล่านี้มีประสบการณ์ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรในไต้หวันที่สามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้กับงานในหน้าที่ในประเทศไทยอย่างได้ผล สร้างประโยชน์ให้เกิดแก่เกษตรกร และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้บริหารระดับสูง
(จบคำกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ)
(คำปราศรัย ภาษาไทย)
ผมได้ใช้เวลาสั้นๆ ในการให้เกียรติกับทางหัวหน้าคณะผู้แทนของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปคนใหม่ ที่เพิ่มมารับตำแหน่ง คือ ฯพณฯ นายพล หวาง เสียน หยาง และมาดาม เพื่อให้ท่านได้ทราบถึงความรู้สึกของพวกเรา ที่มีต่อการสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่ากองทุนพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถาบันฝึอบรมการปฎิรูปที่ดินขึ้นมา
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นับตั้งแต่การจัดตั้งสมาคมฯ จนถึงชณะนี้ เป็นเวลาประมาณ 4 ปีแล้ว ทุกๆ ปี เรามีการประชุมประจำปี เพื่อให้สมาชิกของสมาคมมีโอกาสพบปะกัน และสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ระลึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่พวกเราได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในไต้หวัน และส่วนหนึ่งคือการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างฝ่ายไทย คือสมาคมฯกับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย ซึ่งมีคุณชาญเดช หวังสัมพันธ์ เป็นผู้ประสานงาน
การประชุมทุกครั้ง เราได้ประสานงานเชิญผู้แทนของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปมาร่วมประชุมด้วย รวมทั้งได้เชิญผู้บรรยายพิเศษมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา และความเจริญก้าวหน้าของไต้หวันให้เราได้ทราบ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ความจริงการประชุมครั้งที่ 4 นี้ จะต้องจัดในปี 2541 แต่เนื่องจากหาเวลาที่เหมาะสมไม่ได้ ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งของผมเองมีมากแต่ด้วยความห่วงใย จึงได้พูดคุยกับคณะกรรมการบางท่าน เช่น คุณฉันทนา ชะระวณิช คุณเสาวนิตย์ พงษ์ประไพ คุณสุดา วัชระประภาพงศ์ คุณศิวศักดิ์ วานิชรักษ์ คุณพะเยาว์ รัตนวิบูลย์ รวมทั้งพี่ชีพ ชูวิจิตร และอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม พยายามที่จะจัดการประชุมประจำปีให้ได้จนกระทั่งหาวัน เวลา ที่เหมาะสมได้ คือ การประชุมครั้งนี้
ก่อนที่จะมีการประชุมครั้งนี้ คุณชาญเดช และคุณเฉิน ได้เดินทางไปพบผมที่กรมวิชาการเกษตร ได้คุยหารือกันถึงเรื่องการทำงาน รวมทั้งแนวทางการจัดประชุมครั้งนี้ และได้แนะนำสมาชิกใหม่หลายท่าน
สมาคมฯ มีสมาชิกใหม่ ซึ่งได้เดินทางไปอบรมที่ไต้หวัน ทั้งในส่วนของ LRTI และ ICDF เมื่อกลับมาก็ได้สมัตรเป็นสมาชิกของสมาคมฯ
สิ่งที่สำคัญที่จะเรียนให้ทราบคือ การจัดประชุมทุกๆ ปี ทางสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่ายจาสกสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะได้รายงานให้ทราบถึงสถานภาพทางการเงินของสมาคมฯ ซึ่งยังมีเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง
โอกาสที่ได้มาในวันนี้ ผมดีใจมาก และอยากกราบเรียนให้ ฯพณฯ หวาง ผ่านทางคุณชาญเดช ทราบว่า การประชุมครั้งนี้ สมาชิกมาร่วมประชุมกันมากกว่าทุกครั้ง ที่สำคัญคือ มีสมาชิกอาวุโส ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาค และเกษตรจังหวัด หลายท่าน รวมทั้งน้องๆ ที่เป็นสมาขิกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงขณะนี้ เป็นสิ่งที่ยินยันถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และผมหวังว่าในปีต่อๆ ไป ทางสมาคมฯ คงจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกมาร่วมประชุมกันอย่างมากมายเช่นนี้อีก
ผมได้เรียนกับคณะกรรมการว่า เราน่าจะมีกิจกรรมของสมาคมฯ ในรอบปีมากกว่านี้แทนที่จะมีเฉพาะการประชุมประจำปีเพียงอย่างเดียว ระหว่างปีน่าจะมีอะไรมากขึ้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่ผมขอฝากกับท่านคณะกรรมการไว้
ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง สำหรับ LRTI และ ICDF ซึ่งเท่าที่ผ่านมา นอกจากจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่สมาคมฯ แล้วยังได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา การฝึกอบรม และดูงานแก่นักวิชาการของไทย ให้ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมในไต้หวันด้วย นับว่าทางสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเป ได้ให้เกียรติแก่ทางสมาคมฯ มาก ในการที่จะให้สมาคมฯ เป็นแกนกลางในการคัดเลือกผู้รับทุนไปฝึกอบรมและดูงาน จะต้องจัดทำให้ลักษณะใด ไม่อยากให้ผูกพันกับกรมฯ เพราะการส่งเอกสารการขอรับทุนมาที่กรมวิชาการเกษตร ผมจะต้องคัดเลือกส่งบุคลากรของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งบางครั้งไม่เป็นธรรมสำหรับหน่วยงานอื่น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้มาโดยตลอดนั้น แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย ที่ได้ให้กับนักวิชาการด้านการพัฒนาการเษตรของไทย ซึ่งผมขอยืนยันว่า ความรู้ ประสบการณ์จากการที่ได้ศึกษาดูงาน และฝึกอบรมในไต้หวันนั้นมีมากมาย
ผมเองมีโอกาสเติบโตขึ้นในหน้าที่การงานหมุนเวียนสับเปลี่ยนไป ในช่วง 1 ปี ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผมไม่ได้เดินทางไปยุโรป และอเมริกาเลย ทั้งๆ ที่หน้าที่ของผมต้องเดินทางเกือบทุกเดือน ในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศมากมาย ผมสามารถเดินทางได้ทุกเดือนๆ ละประมาณ 2 ครั้ง ถ้าจะไปจริงๆ และไม่ใช้เงินของรัฐบาล เป็นเงินขององค์กรนั้นๆ ที่เชิญไปแต่เนื่องจากสิ่งที่จะไปร่วมประชุม หรือร่วมกิจกรรมเหล่านั้น ผมคิดว่าเสียเวลา เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากห่างไกลจากความเป็นจริงที่จะนำมาใช้ได้ในประเทศไทย ผมเลยไม่เดินทางเลย
1 ปีที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปลาว 1 วัน เดินทางไปญี่ปุ่น 1 ครั้ง ไปดูเรื่องเกี่ยวกับ Rice qenome สุดท้ายไปมาเลเซีย ไปเจรจาความร่วมมือเรื่องยางพารา นอกเหนือจากนี้ไม่ได้ไปไหนเลย ยุโรป อเมริกา ต้องถือว่างง่ายมากถ้าจะไป แต่ผมปฎิเสธหมด ถ้าถามผมตอนนี้ว่าอยากไปไหน ผมอยากไปไต้หวันอีก ยังเรียน ฯพณฯ หวาง ว่า ผมไม่ได้ไปไต้หวันมา 2-3 ปี แล้ว เพราะหาเวลาว่างที่เหมาะสมไม่ได้
ความรู้สึกของผม ผมเป็นคนผิวเหลือง ผมมีประสบการณ์มากขึ้น ทำงานมากขึ้น รู้เล่ห์เหลี่ยมของผู้คนในสังคมมากขึ้น ผมภูมิใจในไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ผมอยากให้พวกเรารู้สึกสิ่งเหล่านี้ และนำประสบการณ์ที่ได้จากประเทศเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ความรู้สึกเช่นนี้ค่อนข้างรุนแรง จนผมขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการความร่วมมือทางการเกษตรของออสเตรเลีย (ACIAR) ซึ่งผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการโดยชื่อ มิใช่โดยตำแหน่ง ผมเห็นว่าการช่วยเหลือของออสเตรเลียเป็นการเอาเปรียบ ผมจึงยกเลิกความร่วมมือและลาออกจากการเป็นกรรมการ เป็นการประท้วงการที่เขาอาศัยกลไกความร่วมมือแสวงหาประโยชน์จากไทย โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตไม้ผลเมืองร้อน
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้ท่านได้ทราบในฐานะเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้มีโอกาสมาร่วมประชุม และทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับไต้หวันต่อไป
เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ ผมขอเปิดการประชุมสามัญประจำปี 2542 ของสมาคมศิษย์เก่ากองทุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถาบันฝึกอบรมการปฏิรูปที่ดิน ณ บัดนี้
คำกล่าวปิด
การเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๒ (๑/๒๕๕๑)
เรื่อง “การบริหารจัดการงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research)
ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ”


ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณทุกๆ มหาวิทยาลัยเครือข่าย ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาฯ ในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า R2R หรือ Routine to Research นั้น เป็นโครงการที่มีประโยชน์ โดยคำๆนี้เกิดขึ้นจากพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเองที่ถูกมองจากสังคมว่า เป็นบ่อเกิดของวิชาการและงานวิจัย ย้อนหลังไปเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว ในขณะนั้นผมยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่มโครงการ R2R ขึ้น แม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจัยมืออาชีพ ว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งานวิจัย เพราะงานวิจัยจริงๆน่าจะวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ และเสียงอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ปฏิบัติงานประจำว่า ผู้บริหารให้ทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินความสามารถของ พวกเขา โดยกลัวคำว่างานวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็ยังคงยืนยันว่าจะต้องทำให้เกิด R2R ในโรงพยาบาลศิริราชให้ได้ ในที่นี้ผมจึงขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดระยะเวลาในการทำงาน หรือการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ตาม เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการวิจัยได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังเท่านั้น แต่ R2R เป็นได้ตั้งแต่งานวิจัยขนาดเล็กต่อยอดไปสู่งานวิจัยขนาดใหญ่ได้ หากมีการตั้งโจทย์ที่เจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกสถาบัน ในการทำกิจกรรม R2R
ในปัจจุบันในวงการมหาวิทยาลัยมีคำกล่าวที่ว่า Good University teaches but Great University transforms people นั่นหมายความว่าขณะนี้การสอนไม่เน้นให้ตอบคำถามเพียง อย่างเดียว แต่เน้นให้“ถามเป็น”มากขึ้น ซึ่งคำถามจะกระตุ้นให้ค้นหาคำตอบ ค้นพบวิธีได้มาซึ่งคำตอบ เหล่านี้เองทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งภูมิปัญญาของประเทศ และสามารถพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจะต้องมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์จากงานประจำ
จากที่ผมเองมีส่วนร่วมในกิจกรรม R2Rของโรงพยาบาลศิริราชนั้น ในระยะเริ่มแรกเริ่มต้นขึ้นได้ที่หน่วย HA โดยพบว่าหลังจากเริ่มต้นไปได้ระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มความถนัดขึ้นมาเกือบ 80 กลุ่ม ทำอย่างไรจึงจะต่อยอดไปสู่งานวิจัยได้ จึงนำกลุ่มทั้งหลายมาร่วมกันค้นคิดคำถามงานวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช อ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า R2R ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนๆ เดียว จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหาร โดยในส่วนของผู้บริหารเองจะต้องลด command and control โดยใช้ให้น้อยลง ไม่เช่นนั้นจะเกิดนักวิจัยแบบ R2R ได้ยาก และสิ่งที่อยากจะฝากทุกๆ ท่านในวันนี้คือ ทุกท่านต้องกลับไปจุดไฟกระตุ้นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่อยู่เหนือท่านขึ้นไป หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูง ให้เห็นความสำคัญ โดยตัวผมเองโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ R2R ของโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเห็นความสำคัญและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากงานในส่วนนี้ ดังนั้นเมื่อได้รับตำแหน่งอธิการบดี จึงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้เกิด R2R ในทุกส่วนของมหาวิทยาลัย เพราะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาหน้างานทั้งสิ้น และขอย้ำกับทุกๆ ท่านในที่นี้อีกครั้งว่า R2Rมิใช่กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนเป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรจะทำให้เกิด R2R เพราะ Research in Education มีความสำคัญมาก
ขอให้การมารวมตัวกันในวันนี้กลายเป็นการก่อเกิด CoPs ของ R2R ซึ่งเราจะร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้สำหรับการตั้งต้น R2R นั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ต้องอาศัยคณะทำงานที่เข้มแข็งเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจและการสนับสนุน ด้านทรัพยากร ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กัน คือ Leadership คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพและนวัตกรรม ถ้าทุกๆ มหาวิทยาลัยทำให้เกิดขึ้นได้แล้วกระจายออกไปสู่สังคม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณและฝากความหวังไว้กับทุกๆ ท่านว่า เราจะยังคงร่วมมือกับเครือข่ายนี้ต่อไป จะติดตามผลการดำเนินการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดเป็น Learning Organization ที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าพวกเราทำได้และขอขอบคุณผู้จัดงานในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในหน่วยงานของท่านให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบคุณครับ

-------------------------------------------------------------------
คำกล่าวรายงาน
ต่อประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม
หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์”
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2551
ณ ห้องประชุมวลัย โรงแรมหาดใหญ่รามา
เวลา 09.00 น.
***********************
เรียนท่าน รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ท่านปราโมช ถาวร
กระผมในนามของ สำนักพัฒนาระบบการบริหารการจัดการสหกรณ์ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 18 จังหวัดสงขลา และผู้เข้ารับการอบรม ขอขอบพระคุณท่านอธิบดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์” ในวันนี้
การจัดฝึกอบรม หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์” นี้ ได้จัดขึ้น ตามแผนปฏิบัติงานประจำปี 2551 ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ที่กำหนดให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการสหกรณ์แก่ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ลูกค้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 5 รุ่น และรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 5 จัดระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2551 มีผู้เข้าอบรม จำนวนทั้งสิ้น 150 คน จากสหกรณ์ต่างๆ ในจังหวัด ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
การฝึกอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ แก่ลูกค้าของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ การให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกองทุนพัฒนาสหกรณ์และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน โดยได้รับความร่วมมือด้านวิทยากรจาก ภาครัฐ และเอกชน ในการสร้างความเข้าใจ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร การบริหารการจัดการสหกรณ์แบบมีส่วนร่วม และหลักเกณฑ์การกู้เงิน กพส. ทั้งนี้ คาดหวังว่าผู้เข้าอบรมสามารถนำแนวทางการบริหารไปพัฒนาสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็งในโอกาส ต่อไป
บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเรียนเชิญรองอธิบดี กล่าวเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสหกรณ์”ด้วย

************************

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

คำกล่าวเปิดงาน
เรียน ท่านกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน,สมาชิก อบต. และผู้ร่วมงานทุกท่าน
*********
ผมมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มาร่วมงานโครงการประเพณีสงกรานต์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม และกิจกรรมเชิดชูผู้สูงอำยุประจำปี 2551
ในวันนี้ อันประเพณีสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุก ๆ ปี สำหรับประเทศไทยแล้วก็คือวันขึ้นปีใหม่นั้นเองจะมีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระและ รดน้ำดำหัวผู้สูงอำยุ ครอบครัวได้มารวมกันพร้อมหน้า ตามสถานที่ต่าง ๆ มีการสาดน้ำเล่นกัน เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามสมควรต้องส่งเสริมและอนุรักษ์ให้อยู่กับสังคมไทยตลอดไป
ตามที่กล่าวรายงานว่าองค์การบริหารส่วนตำบลศรีประจันต์ ได้จัดทำโครงการประเพณีสงกรานต์ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี โดยจัดหมุนเวียนกันไปภายในเขตพื้นที่ทั้ง 6 หมู่ และในปีนี้เป็นของบ้านม่วงเจริญผลหมู่ที่ 6 เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าวขึ้น เพื่อให้พี่น้องทั้ง 6 หมู่ มาร่วมกิจกรรมด้วยกันมีทั้งการละเล่นกีฬาพื้นบ้าน กีฬาประเภทอื่น ๆ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ มอบสิ่งของให้ผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมที่ดี ผมขอสนับสนุนให้มีขึ้น
ทุก ๆ ปี เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีของชาวพี่น้องหมู่ 1 ถึง 6 และการแข่งขันกีฬาให้เป็นไปด้วยความรัก ความสามัคคี มีน้ำใจเป็นนักกีฬา และเพื่อความสนุกสนานเป็นกำรอนุรักษ์สืบสานประเพณีสงกรานต์ให้คงอยู่ตลอดไป
ผมขอเปิดงานโครงการประเพณีสงกรานต์สืบสำนมรดกทางวัฒนธรรม และกิจกรรมเชิดชูผู้สูงอายุประจำปี 2551 ณ บัดนี้

*********

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สารคดีท่องเที่ยว เรื่อง เกาะสวยใก้ลกรุงเทพฯ

สารคดีท่องเที่ยว เรื่อง เกาะสวยใกล้กรุงเทพฯ

เช้าวันศุกร์ เป็นเวลาที่ท้องฟ้าสดใสในยามเช้า แต่สำหรับดิฉันมันเป็นเช้าที่แสนสงบและสุขสบาย มันเป็นวันแห่งการพักผ่อนระหว่างสัปดาห์ของดิฉัน แต่ด้วยท้องฟ้าที่แจ่มใส และอากาศที่แสนดี จะมีหรือที่คนที่ชอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ทะเล จะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมพื้นที่แสนอึดอัด ดิฉันเตรียมกระเป๋ากับกล้อง เตรียมตัวเดินทางไปเกาะสีชังที่ที่คนต่างบอกเล่ากันว่าสงบและสวยงามมาก วันนี้เป็นวันที่ดิฉันไม่เครียดเรื่องงานเป็นวันที่ผ่อนคลายมาก
ดิฉันเดินทางด้วยรถแท็กซี่มาลงที่สถานีขนส่งเอกมัยมันเป็นวันที่รถติดมาก อีกตามเคย แต่ดิฉันก็ไม่หงุดหงิดเลยเพราะว่าดิฉันตื่นเต้นกับการไปเที่ยวทะเลเกาะสีชังในครั้งนี้ จนลืมความเครียดไปในเวลานั้น ดิฉันถึงที่สถานีเอกมัยเป็นที่เรียบร้อยขนกระเป๋าลงจากรถแท็กซี่ เดินตรงไปที่ซื้อตั๋วรถทัวร์ กรุงเทพฯ- พัทยา ดิฉันรอเวลารถทัวร์ออกเดินทาง เพื่อมุ่งหน้าสู่อำเภอศรีราชา สู่ท่าเรือจรินทร์ ขึ้นเรือเมล์เพื่อข้ามไปยังเกาะสีชังด้วยค่าโดยสาร 40 บาท ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาทีก็ถึงปลายทางกลางทะเล เพียงก้าวแรกบนท่าเทียบเรือดิฉันก็เริ่มรับรู้ได้ถึงความเงียบสงบของที่แห่งนี้ เดินจากท่าเรือเข้ามาเล็กน้อยเราก็จะมองเห็นพาหนะนำเที่ยวหลายรูปแบบทั้งสามล้อเครื่องที่มีหลายราคาตามจำนวนสถานที่ มอเตอร์ไซค์ให้เช่าที่มีทั้งแบบเป็นชั่วโมงๆละ 100 บาทหรือแบบเหมาทั้งวัน 250 บาท ผมมีเวลาเที่ยวบนเกาะนี้เกือบค่อนวันก็เลยเลือกแบบเหมาทั้งวัน พี่เจ้าของรถก็ช่วยแนะเส้นทางให้โดยบอกให้เราขับตามถนนหลักซึ่งสายเดียวรอบเกาะทั้งมีป้ายบอกทางสถานที่ต่างๆ โดยก่อนอื่นพี่เขาบอกให้เราเลี้ยวขวาไปก่อนเพื่อไปไหว้ “เจ้าพ่อเขาใหญ่”สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเกาะ ขับไปไม่นานก็พบเจอศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เดินตามบันไดขึ้นเขาคยาศิระไม่ไกลก็จะถึงศาลที่ประทับเจ้าพ่อเขาใหญ่ ซึ่งศาลแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าในอดีตเกาะสีชังแห่งนี้ยังไม่มีผู้คนมาอาศัยอยู่ จะมีเพียงเรือสำเภาที่มาจอดถ่ายสินค้า ตกเวลากลางคืนจะสังเกตเห็นแสงสว่างสะท้อนออกมาจากบริเวณศาลในปัจจุบัน จึงได้มีการสำรวจพบถ้ำและปรากฏว่าพบรูปหินของเจ้าพ่อเขาใหญ่ในลักษณะประทับ และกลายเป็นที่เคารพสักการะของคนโดยทั่วไป หลังจากไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่เสร็จดิฉันก็เดินขึ้นบันไดตามป้ายบอกทางเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา แต่แล้วก็เกือบถอดใจเพราะบันไดนั้นแสนจะชันและยาวไกล แต่ในที่สุดดิฉันก็ขึ้นมาถึงยอดเขา สิ่งแรกที่พบก็คือเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เดินต่อไปอีกนิดหน่อยก็จะพบรอยพระพุทธบาทซึ่งจำลองมาจากรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อปี พ.ศ.๕๐๐ มีความยาวศอกเศษ ทำจากหินขวาน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาจากวัดพุทคยา ประเทศอินเดีย บนยอดเขานี้ถือเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดบนเกาะสีชังเพราะสามารถมองเห็นเกาะได้รอบทิศ วิวที่จุดนี้เป็นบรรยากาศที่สวยงามและสงบมากดิฉันได้ยินเสียงลมมากระทบหูมันเป็นเสียงลมและเสียงคลื่นทะเลที่น่าหลงใหลมาก
เมื่อลงจากยอดเขา ผมก็ขับรถตามถนนหลักต่อไปไม่ไกลนักก็ถึง “ช่องเขาขาด”หรือ“ช่องอิสริยาภรณ์” เป็นอ่าวที่มีความสวยงาม มองเห็นน้ำทะเลสีเขียวใสสะท้อนกับแสงแดดในยามใกล้เที่ยง เกิดเป็นประกายระยิบระยับ เดินขึ้นไปบนจุดชมวิวบริเวณใกล้กันจะพบพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ชมวิว และเมื่อเดินทางต่อไปก็จะเข้าสู่เขตชุมชนชาวเกาะสีชัง หลังบ้านเรือนเหล่านั้นจะสังเกตเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนเชิงเขา ดิฉันเลี้ยวตามป้ายบอกทางซึ่งบอกว่าเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำจักรพงษ์ ซึ่งสามารถขับรถขึ้นไปยังสำนักสงฆ์บนเชิงเขาได้ สำนักสงฆ์แห่งนี้นอกจากจะมี “พระเหลือง” พระพุทธรูปปรางค์สมาธิองค์ใหญ่เป็นจุดเด่นแล้วยังมี “ถ้ำจักรพงษ์”ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อีกด้วย เมื่อกราบพระและทำบุญเสร็จดิฉันก็ออกเดินทางสู่สถานที่ต่อไป ดิฉันขับมาถึงทางเข้าพระราชจุฑาธุชราชฐาน พระราชฐานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ดิฉันตัดสินใจเลี้ยวขวาขึ้นเนินเขาเพื่อไปยังหาดถ้ำพังอ่าวอัษฎางค์ เมื่อข้ามเนินเขามาได้ก็จะมองเห็นหาดถ้ำพังหาดทรายสีขาวเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ ดิฉันใช้เวลาบนหาดแห่งนี้อยู่นานเพราะเป็นหาดที่มีความสวยงามจึงขอเก็บความทรงจำด้วยการถ่ายภาพเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึก แต่น่าเสียดายเพราะบนเกาะสีชังนี้มีเพียงหาดถ้ำพัง หาดเดียวที่สามารถเล่นน้ำได้นอกจากนั้นทะเลเป็นหน้าผาและโขดหินใหญ่ไม่สามารถเล่นน้ำได้ ในบริเวณไกลกันก็ยังมีแหลมอัษฎางค์ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาตกปลากันและสถานที่ท่องเที่ยวสุดท้ายบนเกาะสีชังซึ่งถือเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด นั่นก็คือ “พระราชจุฑาธุชราช” ซึ่งมีความเป็นมาคือ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จรัชกาลที่ ๔ ประพาสเกาะสีชัง และได้ทรงแจกทานแก่คนชราที่มีอายุเกินร้อยปีถึง ๓ คน สีชังจึงเป็นสถานที่พัก เป็นสถานที่พักฟื้นเป็นที่นิยมของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แพทย์หลวงถวายคำแนะนำให้พระบรมวงศ์เสด็จไปพักรักษาพระองค์ ณ เกาะสีชัง โดยเฉพาะพระเจ้าลูกยาเธอ “เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ” ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงพระเยาว์มีพระอาการมาก ต้องไปพักรักษาพระองค์อยู่ที่เกาะสีชังเป็นเวลานาน รัชกาลที่ ๕ ทรงมีความห่วงใยก็เสด็จไปทรงอภิบาลพระราชโอรสเป็นการประจำเช่นกัน และในปีพ.ศ.๒๔๓๑ทรงโปรดฯให้สร้างตึกขึ้นสามหลัง สำหรับเป็นที่พักฟื้นผู้ป่วย ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และตึกอภิรมย์ ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระราชฐานขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเพื่อแปรพระราชฐานในฤดูร้อน พระราชทานนามว่า “จุฑาธุชราชฐาน” ตามพระนามของพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติที่เกาะสีชัง ภายในบริเวณมีพระที่นั่ง 4 องค์ ตำหนัก 14 หลัง และศาลา 1 แห่ง มีหาดที่สวยงามเรียกหาดท่าวัง จุดเด่นของพระราชฐานแห่งนี้คงหนีไม่พ้น “สะพานอัษฎางค์” สะพานขาวที่ทอดยาวออกไปยังทะเล นอกจากนี้เวลาช่วงเย็นพื้นที่บางส่วนของพระราชจุฑาธุชราชยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เล่นกีฬาของชุมชนอีกด้วยเสียงแตรจากเรือเมล์ดังมาถึงพระราชจุฑาธุชราชที่ดฉันยืนอยู่ ถึงเวลาที่ดิฉัน ต้องกลับไปสู่โลกที่วุ่นวายอย่างเคยแล้ว ต่างกับที่นี่โดยสิ้นเชิงที่เงียบสงบและเรียบง่าย ดิฉันเริ่มจะรักที่นี่เสียแล้ว “สีชัง” คงชังแต่เพียงชื่อ สำหรับนักท่องเที่ยวหลายๆคนรวมทั้งดิฉันคงชังที่นี่ไม่ลงเป็นแน่ ดิฉันจะไม่ลืมสถานที่ที่สวยงามและเงียบสงบแห่งนี้เป็นอันขาดเพราะถือว่าเป็นเกาะสวรรค์ใกล้กรุงเทพฯอีกที่หนึ่งเลยทีเดียว

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข่าวแจก

ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
เรื่อง การขายทอดตลาดรถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศ


ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีความประสงค์จะขายทอดตลาดรถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศ หมายเลขทะเบียน ๕ ฌ - ๔๔๘๔ จำนวน ๑ คัน รายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย ประกาศนี้ โดยมีวิธีดำเนินการและเงื่อนไข ดังนี้
๑. กำหนดวิธีการขายทอดตลาด ขายโดยวิธีประมูลราคาด้วยการยื่นซองใบเสนอราคา ในวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ ตั้งแต่เวลา ๙.๓๐ น. ถึง ๑๐.๓๐ น. และเปิดซองใบเสนอราคาพร้อมทั้งพิจารณาผลการประมูลในเวลา ๑๑.๐๐ น. ณ กลุ่มงานพัสดุ อาคาร ๑๓ ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องวางเงินสดค้ำประกันในการประมูล รายละ ๒,๕๐๐.๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยบาทถ้วน)
๒. การชำระเงินและรับมอบรถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศ
๒.๑ ผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่ารถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศที่ประมูลได้ทันที และขอรับมอบรถดังกล่าวภายใน ๗ วันทำการ นับแต่วันขายทอดตลาด หากไม่มารับรถภายในกำหนดระยะเวลา มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลรักษารถ
๒.๒ ผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น อาทิ ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่าอากรแสตมป์ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ถ้ามี)
๒.๓ หากผู้ชนะการประมูลไม่ชำระค่ารถยนต์ตู้โดยสารปรับอากาศตามที่ประมูลได้ มหาวิทยาลัยจะถือว่าท่านผิดเงื่อนไขในการประมูล และจะริบเงินสดค้ำประกันในการประมูลทันที และ จะดำเนินการขายอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากได้เงินไม่คุ้มราคาที่ขายทอดตลาดในครั้งก่อน ท่านจะต้องชำระเงินในส่วนที่ขาดนั้น
๓. มหาวิทยาลัยสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ขาย หรือยกเลิกการขายทอดตลาดนั้นเสียก็ได้ ถ้าเห็นว่าราคาสูงสุดที่ผู้ยื่นเสนอราคาประมูลนั้น ยังไม่เป็นผลดีต่อทางราชการ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ยื่นเสนอราคาประมูลจะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น
๔. การวินิจฉัยของมหาวิทยาลัยให้ถือเป็นเด็ดขาดจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ผู้เข้าร่วมประมูลต้องปฏิบัติตามประกาศนี้
๒ / ผู้สนใจ...
ผู้สนใจติดต่อขอรับเอกสาร ได้ตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ ระหว่างเวลา ๙.๐๐ น.ถึง ๑๕.๓๐ น. ในวันราชการ หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซด์ www.dusit.ac.th หรือสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข ๐ ๒๒๔๔ ๕๑๑๐ ถึง ๕๑๑๔ หรือ ๐ ๒ ๖๖๘ ๗๔๖๔ ในวันและเวลาราชการ
ประกาศ ณ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๑
(รองศาสตราจารย์ศิโรจน์ ผลพันธิน)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต